ผู้เขียน หัวข้อ: โรคภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic dissection)  (อ่าน 17 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 253
    • ดูรายละเอียด
โรคภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic dissection)
« เมื่อ: วันที่ 3 พฤศจิกายน 2024, 21:19:52 น. »
โรคภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic dissection)

เป็นภาวะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงใหญ่มีรอยปริเป็นรูรั่ว ทำให้เลือดไหลออกไปเซาะให้ผนังชั้นในแยกออกจากผนังชั้นกลางเป็นแนวยาว ถ้ารอยปริของหลอดเลือดเกิดตรงจุดใกล้หัวใจ เรียกว่า "ชนิดเอ (A)" ถ้ารอยปริของหลอดเลือดเกิดตรงจุดที่อยู่ต่ำกว่าจุดแยกของหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า (subclavian artery) เรียกว่า "ชนิดบี (B)"

โรคนี้จัดว่ามีอันตรายร้ายแรง พบมากในกลุ่มอายุ 40-70 ปี


สาเหตุ

ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ส่วนน้อยอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง การบาดเจ็บ โรคกรรมพันธุ์ (เช่น Marfan syndrome, Ehlers-Danlos syndrome) ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดโดยกำเนิด (เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกผิดปกติ) อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง บางครั้งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจหรือการใส่สายสวนหัวใจหรือหลอดเลือด

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง (บางรายรู้สึกคล้ายเนื้อถูกฉีกหรือกรีด) ที่หน้าอก หรือหลังด้านบน (กลางสะบัก 2 ข้าง) และเจ็บแผ่ไปที่ท้องและต้นขา คอ หลังส่วนล่าง (ตามรอยเซาะของเลือด) อาการปวดจะรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ หรือวัน ๆ บางรายอาจมีอาการเป็นลมหรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

เลือดที่เซาะและขังอยู่ในรอยแยกระหว่างผนังหลอดเลือดชั้นในสุดและชั้นกลาง อาจอุดกั้นการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดที่แตกสาขาออกไป ก็จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปวดท้องเนื่องจากลำไส้ขาดเลือด (อุดกั้นหลอดเลือดเลี้ยงลำไส้) ปวดหลังด้านล่างเนื่องจากไตขาดเลือด (อุดกั้นหลอดเลือดไต) หรือขาอ่อนแรง (อุดกั้นหลอดเลือดเลี้ยงไขสันหลัง)

ถ้ารอยปริอยู่ใกล้หัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะลิ้นเอออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency)

เลือดที่เซาะอาจเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจถูกบีบรัด (cardiac temponade) หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงปอดและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ผนังหลอดเลือดแตก มีเลือดตกภายใน จนเกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตในเวลารวดเร็วได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ตรวจพบชีพจรที่มือและขาเต้นเบาหรือคลำไม่ได้ ความดันต่ำ หรือชีพจร 2 ข้างเต้นแรงไม่เท่ากัน บางรายอาจพบความดันโลหิตสูง เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจอาจได้ยินเสียงฟู่ (murmur) ที่บริเวณลิ้นเอออร์ติก ในรายที่มีลิ้นเอออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency)

นอกจากนี้อาจตรวจพบอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

1. ถ้าพบว่าเป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ชนิดเอ (รอยปริอยู่ใกล้หัวใจ) จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขโดยด่วน หากไม่รักษา ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง และร้อยละ 90 เสียชีวิตภายใน 1 เดือน ขณะที่ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดมีอัตราตายประมาณร้อยละ 15 ส่วนผู้ที่มีชีวิตอยู่รอดเกิน 2 สัปดาห์หลังผ่าตัดจะมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปีถึงร้อยละ 70-80 (ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้สามารถอยู่รอดเกิน 10 ปีขึ้นไป)

2. ถ้าพบว่าเป็นชนิดบี (รอยปริอยู่ใต้จุดแยกของหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า) การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาทางยา คือ ให้ยาลดความดัน (เช่น โซเดียมไนโตรพรัสไซด์) และลดอัตราการเต้นของชีพจร (เช่น โพรพราโนลอล) ให้ต่ำลง เพื่อลดแรงดันต่อหลอดเลือด รูปริที่ผนังหลอดเลือดจะปิดได้เองในที่สุด เมื่ออาการหายดีแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยดี พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 30 อาจเกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในระยะต่อมา ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ส่วนน้อยที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือมีการลุกลามมากยิ่งขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขโดยด่วน แบบเดียวกับชนิดเอ ซึ่งมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปี ร้อยละ 50-70

ผู้ป่วยที่เป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ชนิดบี หากไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเลยมีอัตราตายประมาณร้อยละ 10-20 จากผนังหลอดเลือดแตก และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น อยู่ ๆ เกิดมีอาการเจ็บปวดรุนแรงที่หน้าอก หรือบริเวณตรงกลางสะบักหลัง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน

เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

ปฏิบัติเช่นเดียวกับผนังหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างจริงจังในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง


ข้อแนะนำ

ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง นอกจากมีสาเหตุจากภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ยังอาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism) ซึ่งล้วนเป็นภาวะฉุกเฉินอันตรายเหมือน ๆ กัน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที