ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Colorectal cancer)  (อ่าน 63 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 255
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Colorectal cancer)

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับที่ 3 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง พบได้ในวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป (พบถึงร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 60-79 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ ในปัจจุบันพบว่ากลุ่มคนอายุ 20-49 ปี มีโอกาสพบโรคนี้เพิ่มมากขึ้น


สาเหตุ

ยังไม่ทราบชัดเจน พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การมีติ่งเนื้อเมือกในลำไส้ใหญ่ (adenomatous polyps) ซึ่งอาจตรวจพบโดยบังเอิญ หรือมาพบแพทย์ด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด หากปล่อยไว้ไม่ได้ตัดออก มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
    มีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าว หากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 1 คน ก็มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
    มีประวัติคนในครอบครัว (พ่อหรือแม่) เป็นโรคพันธุกรรม ได้แก่ (1) โรค Familial adenomatous polyposis (FAP) ผู้ป่วยจะมีติ่งเมือกจำนวนมากเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุน้อย และกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 40 ปี หรือ (2) โรค Hereditary non-polyposis colorectal cancer (HNPCC) หรือ Lynch syndrome นอกจากทำให้ผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก รังไข่ เยื่อบุมดลูก สมอง ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งมักเกิดมะเร็งเหล่านี้ตั้งแต่อายุก่อน 50 ปี และผู้ป่วยเป็นมะเร็งได้มากกว่า 1 ชนิด

ผู้ที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้น มักจะได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม (ยีน) จากพ่อหรือแม่ ทำให้เป็นโรคดังกล่าวตามมาได้

    มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ได้แก่ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (ulcerative colitis) โรคโครห์น (Crohn’s disease /CD) เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น 4-20 เท่า
    การมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ รังไข่ มดลูก หรือเต้านมมาก่อน
    การมีประวัติได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณท้องมาก่อน
    การกินอาหารพวกเนื้อแดงที่แปรรูป (เช่น ฮอตดอก แฮม) หรือเนื้อแดง (เนื้อหมู เนื้อวัว) ในปริมาณสูง อาหารที่มีไขมันสูง
    การกินอาหารที่มีกากใย (ผัก ผลไม้) น้อย
    การสูบบุหรี่
    การดื่มสุราจัด
    การขาดการออกกำลังกาย
    มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน ก็ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น

อาการ

ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง ต่อมาเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นก็จะมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของมะเร็ง เช่น มีอาการท้องผูกสลับท้องเดินแบบเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือดสด (ทำให้คิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวาร) อุจจาระมีขนาดเล็กกว่าแท่งดินสอ มีอาการปวดท้อง หรือมีลมในท้องเรื้อรัง มีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายปวดถ่ายอยู่ตลอดเวลา หรืออาจคลำได้ก้อนในท้องบริเวณด้านขวาตอนล่าง บางรายอาจมีอาการของลำไส้อุดกั้น คือปวดบิดในท้อง ท้องผูก ไม่ผายลม ซึ่งจะเป็นอยู่เพียงชั่วครู่และทุเลาไปได้เอง และกลับกำเริบใหม่เป็นครั้งคราว บางรายอาจมีอาการซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด

ภาวะแทรกซ้อน

อาจเกิดภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือด ลำไส้เกิดการอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง

มะเร็งมักลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง ในช่องท้อง (ทำให้ปวดท้อง ท้องมาน) ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง แอ่งเหนือไหปลาร้า และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ) และอาจไปที่สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ  แขนขาชา และเป็นอัมพาต ชัก)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักพบก้อนเนื้องอกที่ทวารหนัก (ไส้ตรง) หรือตรวจพบเลือดในอุจจาระ

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม (barium enema) การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจหาระดับสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ได้แก่ สารซีอีเอ (carcinoembryonic antigen/CEA ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษา)

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การตรวจเพทสแกน (PET scan) เป็นต้น เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด บางรายอาจต้องผ่าตัดเปิดรูถ่ายอุจจาระที่หน้าท้อง (colostomy)

ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายอาจให้อิมมูนบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drug) ร่วมด้วย

ผลการรักษา ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้หายขาดได้ ในรายที่มีการลุกลามทะลุผนังลำไส้และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง การผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด และ/หรือรังสีบำบัด ก็สามารถช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้นานหลายปี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 65-90) แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปไกล การรักษาก็มักจะได้ผลไม่สู้ดี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 10-15) การให้อิมมูนบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drug) อาจช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ชีวิตยืนยาวมากขึ้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการท้องผูกสลับท้องเดินแบบเรื้อรัง, ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเรื้อรัง, ถ่ายเป็นเลือดสด (อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวาร), อุจจาระมีขนาดเล็กกว่าแท่งดินสอ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    ลดอาหารพวกไขมันและเนื้อแดง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มสุราจัด
    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
    ควบคุมโรคเบาหวาน (ถ้าเป็น) และน้ำหนักตัว


ข้อแนะนำ

1. สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ไม่มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคติ่งเนื้อเมือกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไม่มีอาการผิดปกติทางระบบลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเมื่อมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้

    การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood test/FOBT ซึ่งในปัจจุบันแนะนำให้ทำการตรวจด้วยวิธี "Fecal immunochemical test/FIT") ถ้าผลเป็นบวก (พบเลือดในอุจจาระ) จะตรวจกรองเพิ่มเติมด้วยการใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ถ้าผลเป็นลบ (ไม่พบเลือดในอุจจาระ) ให้ตรวจซ้ำปีละ 1 ครั้ง
    การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ทุก 10 ปี
    การถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy หรือ virtual colonoscopy) ทุก 5 ปี

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ Familial adenomatous polyposis (FAP) หรือ Hereditary non-polyposis colorectal cancer (HNPCC), ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นติ่งเนื้อเมือกในลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ รังไข่ มดลูก หรือเต้านมมาก่อน ควรทำการตรวจกรองโรคในช่วงอายุน้อยกว่า 50 ปี (ตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือน้อยกว่า) และตรวจถี่กว่าคนปกติทั่วไปตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นสมควร

2. เมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด อย่าคิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวาร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจทางทวารหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือถ่ายออกเป็นเลือดนานและมาก

3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี